ข่าวล่า..เกณฑ์ใหม่วิทยะฐานะ54

 

 

เคาะเกณฑ์วิทยฐานะ”ชำนาญการ-ชำนาญการพิเศษ”
ดึงผู้ปกครองร่วมเป็นกรรมการประเมิน-ลดปัญหาจ้างเขียนผลงาน หรือสอนดีแต่ไม่มีใครเห็น?!

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.54 นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเฉพาะกิจจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการ ครูและบุคคลากรทางการศึกษา เปิดเผย ผลการประชุม อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะชำนาญการ และชำนาญการพิเศษแล้ว และได้นำเสนอ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญระบบเห็นชอบ

โดยขณะนี้รอเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา ทั้งนี้ ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ปกครองและชุมชน เข้ามาเป็น 1 ใน 3 กรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะทำหน้าที่ประเมินผลงานของข้าราชการครูในขั้นตอนสุดท้าย

ส่วนวิธีการและหลักการประเมินนั้นกำหนดไว้ดังนี้ 1.วิทยฐานะชำนาญการ (ชก.) จะให้ข้าราชการครูฯ ที่จะขอรับประเมินให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ยื่นข้อเสนอมาว่ามีผลงานดีเด่นอะไรบ้างที่จะตรวจสอบได้ จากนั้นจะให้กรรมการประเมินไปติดตามประเมินผลงานที่เสนอมาภาคเรียนละ 1 ครั้งในระยะเวลา 2 ปี และเมื่อครบ 4 ครั้งจะให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปประเมินครั้งสุดท้ายว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

2.วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ชกพ.) จะให้ข้าราชการครูฯ ที่จะขอรับประเมินให้มีและเลื่อนวิทยฐานะ ยื่นข้อเสนอมาเช่นเดียวกับ วิทยฐานะชำนาญการ จากนั้นจะส่งกรรมการประเมินไปติดตามในระยะเวลา 3 ปีภาคเรียนละ 1 ครั้งและเมื่อครบ 6 ครั้งจะให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปประเมินครั้งสุดท้ายว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

ส่วนการทำผลงานทางวิชาการนั้นก็ยังต้องมีเอกสารทางวิชการประกอบด้วย แต่ไม่ใช่ลักษณะเหมือนกับการเขียนตำรา ทั้งนี้การให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประเมินนั้นเชื่อว่าจะสามารถอุดช่องว่างปัญหาครูที่ทำงานดีแล้วไม่ได้ เลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งผู้ปกครองและชุมชน จะเป็นผู้ที่รู้ดีกว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากมหาวิทยาลัย ว่าข้าราชการครูฯ มีผลงานดีเด่นจริงหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนได้จากผลที่เกิดจากบุตรหลานของผู้ปกครองและชุมชน

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองและชุมชนที่จะคัดเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น จะมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้และจะคัดเลือกโดยคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา

“สาเหตุที่มีการตั้ง อ.ก.ค.ศ.วิสามัญฯ ชุดนี้ขึ้นมาเนื่องจาก มักจะมีเรื่องร้องเรียนว่าข้าราชการครูที่ทำงานดีสอนดี หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาที่บริหารดี มักจะไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะแต่ข้าราชการครู ที่ได้เลื่อนวิทยฐานะมักจะไปจ้าง คนอื่นเขียนผลงานให้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องพยายามหาวิธีการที่จะเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว”

นายสุขุม กล่าวและว่า ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะเป็นช่องทางพิเศษหนึ่งเช่นเดียวกับ วิทยฐานะเชิงประจักษ์สำหรับผู้มีผลงานดีเด่นที่ได้ประกาศใช้แล้ว ส่วนการประเมินวิทยฐานะตามช่องทางปกติก็ยังมีอยู่เช่นเดิม
http://www.kroobannok.com

ใส่ความเห็น